อุปกรณ์สำหรับฟรีไดฟ์

สำหรับการดำน้ำตัวเปล่า หรือ ฟรีไดฟ์นั้น อุปกรณ์ที่จำเป็นจริงๆมีเพียง หน้ากาก (mask) ท่อ snorkel และ ฟินเท่านั้น ส่วน เวทสูท, เข็มขัด, ตะกั่วถ่วงน้ำหนัก, บุย, สาย แลนยาร์ด อาจจำเป็นหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่สภาวะแวดล้อมที่เราทำการฝึก หรือดำน้ำ บทความนี้จะกล่าวถึงอุปกรณ์บางอย่าง และเคล็ดลับในการเลือกซื้อ

หน้ากาก (Mask)

หน้ากาก Low volume

หน้ากากสำหรับ ฟรีไดฟ์ จะแตกต่างจากหน้ากาก Scuba และหน้ากาก Snorkeling ตรงที่ หน้ากากฟรีไดฟ์ จะใช้แบบปริมาตรต่ำ (Low volume) คือมีช่องว่างสำหรับอากาศน้อย ช่องว่างที่น้อยนี้ ทำให้เราไม่ต้องเคลียร์หน้ากากด้วยอากาศปริมาณมาก เมื่อดำลึกลงไป หน้ากาก Low volume เหมาะสม และยังดีกว่า หน้ากาก Snorkel ในแง่ที่ว่า เราจะรู้สึกถึงแรงกดที่ใบหน้า ที่ระดับความลึก ที่ลึกกว่ามาก เช่น ผมเคยลองใช้ หน้ากาก snorkel  ดำลงไปแค่ 4-5 เมตรก็จะรู้สึกถึงแรงกดแล้ว แต่ถ้าเป็นหน้ากาก Low Volume ดำลงไปถึง 10 เมตรยังไม่รู้สึกถึงแรงกดเลยครับ

ในการเลือกซื้อ ต้องทดสอบ ลองใส่ ว่าพอดีกับหน้ามั้ย ให้ทดลองโดยลองทาบกับใบหน้า โดยไม่ต้องสวมสายรัด ลองหายใจเข้า ถ้าหน้ากากพอดี จะไม่หลุดแม้ไม่คาดสายรัด ในกรณีที่เราเลือกหน้ากากที่เลนส์เป็นกระจก ควรเลือกกระจกนิรภัย Tempered glass ด้วย กระจกแบบนี้ เวลาแตกจะไม่คม ปลอดภัยกว่า อย่าลืมลองใส่หน้ากาก และบีบจมูกเพื่อเคลียร์หูดูด้วย ว่าทำได้สะดวกมั้ย จับจมูกได้ง่าย แนบสนิทดีไหม เช็คคุณภาพซิลิโคน ของส่วน skirt ที่แนบกับใบหน้าด้วย สำหรับ mask คุณภาพดีที่ใช้ ซิลิโคน คุณภาพดี จะนิ่ม และสวมใส่สบาย

ท่อ Snorkel

นักดำน้ำฟรีไดฟ์ ใช้ ท่อ snorkel สำหรับ เตรียมตัวก่อนการดำลง พักผ่อนบนผิวน้ำ หรือใช้ลอยตัวตามดูบัดดี้ ท่อแบบที่เหมาะสำหรับฟรีไดฟ์ คือท่อแบบเรียบๆ ไม่ต้องมีวาล์วใดๆ และควรเป็นท่อแบบนิ่ม ไม่แข็ง เพราะปกติก่อนดำลง เราจะนำท่อออกจากปาก แต่ท่อยังคาดอยู่กับหน้ากาก ถ้าท่อแข็ง ตอนเราดำลง ท่ออาจจะฟาดหน้าเราได้ อย่าลืมเช็คคุณภาพของส่วน mouth piece ที่เราใช้คาบท่อ ว่าไม่แข็งจนรู้สึกไม่สบาย ควรเป็นวัสดุที่ค่อนข้างนิ่ม 

Freediving Fin

ฟินพลาสติก

ฟิน หรือตีนกบ หากเราใช้เป็น ตีฟินถูกต้อง ฟินจะมีประโยชน์มาก ช่วยให้เราเคลื่อนตัวในน้ำได้เร็วขึ้น และประหยัดพลังงาน ในทะเล หากมีคลื่น หรือกระแสน้ำ ถ้าไม่มีฟิน เราต้องออกแรงเยอะมาก หากต้องเคลื่อนตัวด้วยเท้าเปล่า สำหรับฟิน มีหลายประเภท ทำจากวัสดุหลากหลายแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนี้

  • ฟินพลาสติก ข้อดี คือ มักมีราคาย่อมเยาว์ และทนทาน ไม่ค่อยมีปัญหาการแตกหัก ข้อเสีย คือ หนัก และแรงดีดน้อย ต้องใช้แรงเยอะในการตีฟิน อาจไม่เหมาะกับผู้เริ่มต้น ผู้หญิง และเด็ก สำหรับคนที่เทคนิคไม่ดีนัก ตีฟินไม่ถูกต้อง จะเป็นตะคริวง่าย เพราะต้องใช้แรงเยอะในการตีฟิน
  • ฟินไฟเบอร์ (Fiberglass) ข้อดี คือ เบา แรงดีดดีกว่าฟินพลาสติก สวย มักทำลายสวยๆได้หลากหลาย ข้อเสีย คือ แตกหัก ง่าย ต้องเก็บรักษา และขนส่ง ด้วยความระมัดระวัง ผู้หญิงมักนิยม ฟินไฟเบอร์ เพราะมักมีหลากหลายสีและลวดลาย
  • ฟินคาร์บอน ข้อดี คือ แรงดีดสูงสุด เบา ใช้แรงน้อยในการตีฟิน มืออาชีพ และครูมักใช้ฟินคาร์บอน ข้อเสียคือ แตกหักง่าย ต้องระวังในการเก็บรักษา และขนไปมา ข้อเสียอีกอย่างคือ ราคาสูงสุดในฟินทั้ง 3 แบบ

Wetsuit

เวทสูท ใช้สวมใส่ เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย เพราะน้ำสามารถนำพาความร้อนได้ดีกว่าอากาศถึง 25 เท่า แม้เราจะอยู่ในน้ำอุ่น แต่ถ้าอยู่นานๆ ก็รู้สึกหนาวได้ เวทสูทนอกจากช่วยทำให้เราอุ่นแล้ว ยังมีประโยชน์ในการปกป้องผิวเราจากพิษสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น แมงกะพรุน แตนทะเล เวทสูทมีหลากหลายชนิดมาก หากโดยมากเราดำน้ำเล่น ในระดับความลึกที่ไม่มากนัก และน้ำอุ่น เราอาจเลือกใส่เป็น ชุดว่ายน้ำ หรือ Rash Guard แทนก็ได้ เพราะสวมใส่ ถอดง่ายกว่า และดูแลง่ายอีกด้วย

สำหรับเวทสูทฟรีไดฟ์ จะต่างจากเวทสูท scuba ตรงที่มักจะยืดหยุ่นกว่า ใช้ผ้าไนลอนที่บางกว่า เวทสูทฟรีไดฟ์ โดยทั่วไปที่นิยมมี 3 แบบ

  • Double-Lining เวทสูทประเภทนี้ Neoprene ที่เป็นฉนวนกันความร้อน จะอยู่ตรงกลางคลุมด้วยไนล่อนทั้งสองด้าน ทั้งด้านนอกและด้านใน ข้อดีของเวทสูท ประเภทนี้ คือ สวมใส่ง่าย ทนทาน ดูแลรักษาง่าย และมักมีราคาไม่สูงนัก ส่วนข้อเสีย คือ อาจกันหนาวได้ไม่ดีนัก เนื่องจากไม่แนบตัวสนิท อาจมีน้ำซึมเข้ามาได้บ้าง
  • Single-Lining แบบ Open Cell เวทสูทชนิดนี้ Neoprene จะมีไนล่อนคลุมด้านเดียวคือด้านนอก ทำให้ เวลาสวม Neoprene จะแนบสนิทกับร่างกาย ทำให้กันหนาวได้ดี (หรือกันการสูญเสียความร้อน) ข้อเสีย คือ สวมใส่ยาก อาจต้องใช้ สบู่ แชมพู น้ำ หรือแป้งช่วย และดูแลรักษายากกว่ากับ Double-Lining เพราะ Neoprene ที่ไม่มีอะไรคลุม จะฉีกขาดได้ง่าย 
  • Single-Lining แบบ Smooth Skin ชุดชนิดนี้ จะมีไนล่อนด้านเดียวคือ ด้านในส่วนที่ติดกับร่างกาย ส่วนด้านนอกจะเปลือย ทำให้ลู่น้ำได้ดี จึงเป็นที่นิยม สำหรับ นักกีฬา และนักดำน้ำแข่งขัน ข้อเสีย คือ ดูแลลรักษาง่าย ด้านนอกของชุดที่ไม่มีไนล่อนคลุม อาจฉีกขาดได้ง่าย