กฎพื้นฐานในการฟรีไดฟ์อย่างปลอดภัย

1. ห้ามฟรีไดฟ์คนเดียว โดยไม่มีบัดดี้เด็ดขาด (Never freedive alone)

  • กฎพื้นฐานข้อแรกที่สำคัญที่สุดเลย คือห้ามฟรีไดฟ์คนเดียวเด็ดขาด ต้องมีบัดดี้ที่มีความสามารถและมีความรู้ที่จะช่วยเหลือเราได้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆ ไม่ว่า จะเป็น fun dive หรือซ้อม static apnea (กลั้นหายใจ) ในน้ำ หรือ Dynamic apnea เราต้องมีบัดดี้คอยดูแลเราใกล้ๆเสมอ หากไม่มีบัดดี้ กรณีเกิดเหตุร้าย เช่น เรา Black out หมดสติในน้ำ และไม่มีใครอยู่แถวไหน โอกาสรอดของเราคือ 0% 

2. One up One down

  • กรณีที่ดำน้ำ พร้อมบัดดี้ เมื่อคนนึงดำลง อีกคนต้องลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ และคอยดูเพื่อนที่ดำลงไป คนที่อยู่บนผิวน้ำ ควรว่ายตามคนที่ดำไปด้วย และนำบุย ชูชีพ ไปรอจุดที่คนที่ดำขึ้นสู่ผิวน้ำ หรืออาจใช้แขนของตัวเองให้เพื่อนเกาะก็ได้ หลังจากขึ้นสู่ผิวน้ำ และทำ Recovery Breath แล้ว บัดดี้ควรจะสังเกตอาการต่ออีกอย่างน้อย 30 วินาที

3. ห้ามทำ Hyperventilation

  • แม้ว่าการทำ Hyperventilation (หายใจเร็ว ลึก กว่าปกติ) จะอาจทำให้เราสามารถยืดช่วงเวลาที่รู้สึกสบายตัวไม่อึดอัดขณะกลั้นหายใจ แต่แฝงด้วยอันตราย เพิ่มความเสี่ยงในการหมดสติใต้น้ำ (black out) เนื่องจาก โดยปกติ เมื่อก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในระบบร่างกายเพิ่มสูงขึ้น สมองจะสั่งการให้เราหายใจออก เพื่อขับก๊าซ CO2 แต่การทำ Hyperventilation จะทำให้ระดับ CO2 ในร่างกายต่ำกว่าปกติ และทำให้เรารู้สึกว่า CO2 ในร่างกายยังไม่ได้อยู่ในระดับที่สูง จนถึงจุดที่ ออกซิเจนลดต่ำลงมากถึงระดับอันตราย และอาจนำไปสู่การหมดสติได้

4. ทำ Recovery Breath เสมอ

  • แม้เราจะได้ดำลงไปใต้น้ำช่วงสั้นๆ หรือกลั้นหายใจไม่นาน เราก็ควรทำ Recovery breath ทุกครั้ง การที่เรากลั้นหายใจจะทำให้ระดับ ออกซิเจนในร่างกายเราต่ำลง การทำ Recovery breath เป็นการเติมออกซิเจนเข้าร่างกายอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด LMO (Loss of Motor Control) หรือ BO (Black out) สามารถศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง การหายใจได้ที่นี่ การหายใจสำหรับฟรีไดฟ์

5. Equalization

  • อย่าลืมเคลียร์หู กรณีที่เคลียร์ไม่ออกไม่ควรฝืนดำลงต่อไป อาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้ ควรทำการ Pre-equalization ที่ผิวน้ำ ก่อนดำลง หลังจากทำ Pre-equalization แล้ว เราจะรู้สึกถึงแรงกดที่หูอีกครั้ง ในระดับความลึกประมาณ 3 เมตร หลังจากนั้นควรเคลียร์หูทุกๆ 2 เมตร หรือ ทุกๆ 1 เมตรยิ่งดี หากเคลียร์หูไม่ออก ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำทันที การเคลียร์หู หรือปรับความดันหูชั้นกลางทำได้หลายวิธี เรียนรู้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ การเคลียร์หู

6. ใช้เชือก lanyard และ buoy 

  • ในกรณีที่ความลึกตามธรรมชาติลึกกว่า ที่เราจะสามารถดำลงได้ทันทีอย่างสบายๆและช่วยบัดดี้เราขึ้นจากก้นทะเลได้ ให้ใช้บุย เชือก และสายแลนยาร์ด (สายที่ไว้ผูกเราติดกับเชือกบุย)
  • ถ้ามีกระแสน้ำ คลื่นลม หรือทัศวิสัยไม่ดี เราควรใช้บุย เชือก และแลนยาร์ด เพื่อความปลอดภัย

7. อย่าถ่วงน้ำหนักมากเกินไป

  • ในการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ในทะเล โดยมากเราจำเป็นต้องถ่วงน้ำหนัก เพื่อให้การดำลงทำได้ง่าย และใช้แรงน้อย อาจจะใช้เป็นเข็มขัด หรือน้ำหนักถ่วงที่คอก็ได้ แต่จำไว้ว่า เราไม่ควรถ่วงน้ำหนักมากเกินไป เราควรถ่วงน้ำหนักแค่ให้ตัวเรายังลอยเล็กน้อย (positive buoyancy) ที่ผิวน้ำ หรือ neutral buoyancy (ตัวไม่จมไม่ลอย) ที่ระดับความลึกประมาณ 10 เมตร เพื่อให้การขึ้นสู่ผิวน้ำ ไม่เหนื่อยเกินไป และปลอดภัยขึ้น การถ่วงน้ำหนักมาก อาจช่วยให้เราดำลงได้ง่าย สบายขึ้น แต่อย่าลืมว่าตอนเรากลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ก็ต้องใช้แรงมากขึ้นเช่นกัน และกรณีที่เกิดปัญหาใดๆ การกู้ภัยหรือ rescue ก็จะทำได้ยากขึ้น หากเราถ่วงน้ำหนักมากเกินไป ส่วนตัวคิดว่า ถ่วงน้ำหนักน้อยไป ก็ยังดีและปลอดภัยกว่า ถ่วงน้ำหนักมากไป

8. อย่าลืมเอา ท่อ snorkel ออกก่อนดำทุกครั้ง

  • ทุกครั้งก่อนดำลง เราต้องไม่ลืมนำท่อ snorkel ออกจากปากทุกครั้ง ผมเคยเห็นหลายๆคน ทั้งที่เคยเรียนฟรีไดฟ์มาแล้ว กลับคาบท่อ snorkel ดำลงไปด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดอันตรายสองประการ ประการแรก หากเราคาบท่อ snorkel ลงไปด้วย เมื่อเราขึ้นสู่ผิวน้ำ จะมีน้ำในท่อ ซึ่งเราต้องออกแรงเป่าอย่างแรง เพื่อดันน้ำออกก่อนที่จะหายใจเข้าไปได้ การที่เราซึ่งเพิ่งจะกลั้นหายใจดำน้ำ อยู่ในภาวะ ออกซิเจนต่ำ แล้วยังต้องเป่าลมออกแรงๆ จะเพิ่มโอกาสหมดสติได้ อีกประการหนึ่ง หากระหว่างดำน้ำ เราเกิดหมดสติ โดยปกติเมื่อเราหมดสติ เราจะหายใจออกและปิดปากแน่น เพื่อปกป้องทางเดินอากาศของเรา เป็นระบบร่างกายที่ป้องกันเราจากกการสำลักน้ำ แต่หากเราคาบท่อ snorkel ไว้เราจะเปิดปากไม่ได้ และจะทำให้การช่วยเหลือยากขึ้นด้วย เพราะบางครั้ง การนำท่อออกจากปากเพื่อช่วยเหลือทำได้ยาก