วิธีเคลียร์หู การปรับความดันหูชั้นกลาง (Equalization)

เคยมั้ยครับ เวลานั่งเครื่องบินแล้ว เรารู้สึกเจ็บ ปวดหู เมื่อเครื่องบินปรับระดับลง เตรียม Landing หรือไต่ระดับขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเกิดจากความดันบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลง เวลาที่เรานั่งรถ ขึ้นเขา หรือ ขึ้นลิฟท์ชั้นสูงๆ บางครั้งเราจะรู้สึก เหมือนมีเสียง ป๊อปในหู นั่นแหล่ะครับ คือการ ปรับความดันในหูชั้นกลาง ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ความดันบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูง หรือ ระดับความลึกในกรณีที่ลงใต้น้ำ 

ในร่างกายเรามีช่องว่างที่มีอากาศอยู่หลายจุด เช่น โพรงไซนัส ช่องในหูชั้นกลาง เมื่อเราดำดิ่งลึกลงไป ความดันบรรยากาศและความดันน้ำ จะทำให้อากาศในช่องเหล่านี้มีขนาดเล็กลง เราจึงต้องชดเชยโดยการเติมลมเข้าไป นั่นแหล่ะครับ คือการปรับความดันหูชั้นกลาง หรือที่มักเรียกกันว่า การเคลียร์หู หากเราฝืนดำน้ำลงไป โดยไม่เคลียร์หู จะส่งผลให้ เยื่อแก้วหูบาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้

สำหรับ Freediving แล้ว ไม่ว่าเราจะกลั้นหายใจไม่ดี (Bad Apnea) ตีฟิน หรือ Streamline ไม่เก่ง (Bad Finning Technique) มุดน้ำไม่สวย (Bad duckdive) เราก็ยังดำลงใต้น้ำได้ครับ แต่ถ้าเราเคลียร์หูไม่ได้ ก็หมดกัน เราจะดำลงได้อย่างมากแค่ 2-3 เมตรเท่านั้น เราจะรู้สึกถึงแรงกดในหู เจ็บเหมือนมีอะไรมาทิ่ม หากฝืนดำต่อไป เยื่อแก้วหูอาจบาดเจ็บ หรือ ฉีกขาดได้

วิธีการเคลียร์หู มีด้วยกันหลายวิธี เราอาจต้องลองทดลองดูว่า วิธีไหนเหมาะกับเราที่สุด 

VALSAVA

วิธีการนี้เรียบง่าย ทำได้ง่าย และเป็นที่นิยมในหมู่ นักดำน้ำสกูบ้า และนักดำน้ำฟรีไดฟ์ ระดับเริ่มต้น เราเพียงแค่บีบจมูก และออกแรงเป่า แรงลมที่เกิดจากการเป่า และออกทางจมูกไม่ได้ จะไปดันให้ท่อ Eustachian (ท่อเชื่อมระหว่างช่องปาก และหูชั้นกลาง) เปิดออก ลมจะถูกเติมเข้าไปในหูชั้นกลาง ข้อเสียของ เทคนิคนี้ คือ ใช้แรงเยอะ เพราะต้องออกแรงจากกระบังลม และการเคลียร์หูวิธีนี้ จะใช้กับการดำน้ำที่ลึกเกิน 10 เมตรได้ยาก เพราะอากาศที่เหลืออยู้ในปอดจะมีปริมาตรเล็กลงมาก ข้อควรระวังอีกอย่าง คือไม่ควรเป่าลมแรงเกินไป อาจทำให้เยื่อแก้วหู ฉีกขาดได้

Toynbee Maneuver 

วิธีเคลียร์หู วิธีนี้ เป็นอีกวิธีที่เรียบง่าย ได้ผลดี และปลอดภัย เราแค่บีบจมูกและกลืนน้ำลาย กล้ามเนื้อด้านหลังคอ จะดึง ท่อ Eustachian ให้เปิดออก อากาศจึงเข้าไปยังหูชั้นในได้ ข้อเสีย ของวิธีนี้ คือ การกลืนน้ำลาย จะกระตุ้นภาวะอยากหายใจ (Urge to Breathe) จึงไม่เหมาะกับ Freediver เพราะจะทำให้เราอยู่ใต้น้ำได้ไม่นาน

Lowry Technique

เป็นเทคนิคที่รวม Valsava และ Toynbee เข้าด้วยกัน คือ ปิดจมูก เป่าลมออก และกลืนน้ำลาย พร้อมกัน (ให้บังคับกล้ามเนื้อคอ ช่องปาก เหมือนจะกลืนน้ำลาย แต่ไม่ได้กลืนจริงๆ) อาจลองใช้วิธีนี้ กรณีที่ Valsava  และ Toynbee ใช้ไม่ได้ผล

Edmonds Technique

บีบจมูก เป่า และดันกรามล่างไปด้านหน้า

เกร็งเนื้อเยื่อบนเพดานปาก ส่วนหลังของเพดานปาก หรือที่เรียกว่า Soft Palate (ลองใช้ลิ้นสัมผัสเพดานปากไล่จากด้านหน้าไปด้านหลัง บริเวณด้านหน้าจะแข็ง ส่วนด้านหลังจะอ่อน ส่วนที่อ่อน นั่นแหล่ะครับ Soft Palate) และเกร็งคอ ขยับกรามล่างไปด้านหน้าและลงด้านล่าง จากนั้นเป่าลมเหมือน Valsava

Frenzel Maneuver

วิธีเคลียร์หู วิธีนี้ปลอดภัย ใช้แรงและอากาศน้อย นับได้ว่าเหมาะกับการฟรีไดฟ์ที่สุด แต่ต้องใช้การฝึกฝน การควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆบ้าง เริ่มจากบีบจมูก และออกเสียงตัว K “เคอะ” เมื่อเราออกเสียงแล้ว จะทำให้โคนลิ้นขยับขึ้นและดันอากาศเข้าไปในท่อ Eustachian ทำให้ท่อ Eustachian เปิด บางครั้ง อาจใช้วิธีออกเสียงอื่นๆ ก็ได้ เช่น T “เทอะ” หรือ M “เมอะ” วิธีการนี้ใช้การได้ดี แม้ในระดับความลึกที่มาก เพราะใช้ลมจากในช่องปาก ไม่ใช่ลมจากปอด

Voluntary Tubal Opening (VTO)

การเคลียร์หู โดยบังคับให้ท่อ Eustachian เปิด วิธีนี้ต่างจากวิธีอื่นๆ คือ วิธีอื่น จะใช้การดันลมผ่านท่อบังคับให้ท่อเปิด ในขณะที่ VTO จะเป็นการบังคับ ควบคุมกล้ามเนื้อ ให้ ท่อเปิดเอง จึงเรียกว่า Voluntary (สมัครใจ) ทำได้โดยเกร็ง Soft Palate และคอ จากนั้นดันกรามล่างไปด้านหน้าและลง เหมือนกับเวลาเราหาว วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน และทำได้บางคนเท่านั้น หากทำได้จะสามารถเปิดท่อค้างไว้ได้เลย ทำให้เคลียร์หูได้อย่างต่อเนื่อง

เคล็ดลับเพิ่มเติมในการเคลียร์หูให้ง่ายขึ้น

1. ฟังเสียง ป๊อป ในหู

ก่อนเริ่มการดำน้ำ เราควรลองเคลียร์หูก่อน ว่าได้ยิน เสียงป๊อปในหูทั้งสองข้างหรือไม่

2. ทำการเคลียร์หูก่อนเริ่มดำน้ำ และทำการเคลียร์หูที่ผิวน้ำ

ซ้อมเคลียร์หูเป็นระยะๆ สัก 2-3 ชั่วโมง ก่อนการเริ่มดำน้ำ ระหว่างที่ลอยตัวก่อนมุดน้ำ ควรเคลียร์หู 1 คร้้งก่อน หรือที่เรียกว่า Pre-equalize การเคลียร์หูที่ผิวน้ำนี้จะทำให้เราดำลงได้ลึกราว 3 เมตร ก่อนที่จะต้องเคลียร์หูครั้งถัดไป จำไว้ว่าหากเรายังเคลียร์หูบนบกไม่ได้ ลงน้ำ ยิ่งจะทำไม่ได้ ถ้าซ้อมเคลียร์บนบกได้แล้ว ก่อนเริ่มการดำลง (Duck Dive) ควรจะเคลียร์หูที่ผิวน้ำก่อน ถ้าเคลียร์ที่ผิวน้ำไม่ได้ ยากที่ดำลงไปแล้วจะเคลียร์ได้ เพราะตำแหน่งศีรษะ (Head first) จะเคลียร์ยากกว่า

3. ลองดำลง โดยใช้เท้านำ และสาวเชือกลง

ตำแหน่งหัวตั้ง จะเคลียร์หูง่ายกว่า หัวลงมาก เพราะโดยธรรมชาติ อากาศจะไหลจากที่ต่ำไปที่สูง พอเราดำลง หัวปักลง อากาศจะไหลไปอีกทาง ไม่ใช่ขึ้นมาทางศีรษะ การดำโดยหัวลงก่อน ยังทำให้บางครั้ง Soft Palate อยู่ในตำแหน่งปิด ไม่สามารถดันอากาศจากช่องปากไปยังท่อ Eustachian ได้ กรณีที่ดำ หัวลง (Head First) แล้วเคลียร์หูไม่ได้ ให้ลองดำเอียง ไม่ต้องตั้งฉาก 90 องศา จะเคลียร์ได้ง่ายขึ้น

4. มองขึ้นไปด้านบน หรือเงยคาง

การเงยหน้าจะช่วยดึงท่อ Eustachian ให้เปิดออก ทำให้เคลียร์หูได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ เพราะทำให้ร่างกายไม่ลู่น้ำ ไม่ Streamlining เมื่อเราเงยหน้าขึ้น มองไปที่ก้นทะเล หรือก้นสระว่ายน้ำ ร่างกายของเราทั้งร่ายกายจะโค้งตาม ทำให้ร่างกายต้านน้ำ และทำให้การดำลงยากขึ้น หรือที่เรียกว่า Banana (ตัวโค้งเหมือนกล้วย) 

5. ขยับกราม หรือศีรษะ

หากเคลียร์หูไม่ออก ให้ลองขยับกรามล่างไปด้านหน้า ลง ซ้าย ขวา หรือขยับศีรษะเอียงไปทางไหล่ซ้าย ไหล่ขวา อาจช่วยเปิดท่อ ทำให้เคลียร์หูออกได้ หรืออาจจะทำเหมือนหาว ขยับกรามให้กว้างเหมือนหาว แต่ปิดปาก และเคลียร์หู จะช่วยให้เคลียร์หูง่ายขึ้น สำหรับการเคลียร์หูแบบ Frenzel การอมอากาศไว้ในปาก อาจทำให้เคลียร์หูได้ดีขึ้น

6. เคลียร์หูบ่อยๆ

ไม่ควรรอให้รู้สึกถึงแรงกด หรือเจ็บหูก่อนถึงเคลียร์ ควรเคลียร์หูล่วงหน้า ทุกๆ 1 เมตร

7. ถ้ารู้สึกเจ็บ ให้หยุด

ถ้ารู้สึกเจ็บ เคลียร์หูไม่ออก ไม่ควรฝืนและดำลงต่อ ควรกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะถ้าฝืนดำลงต่ออาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

การเคลียร์หูสำหรับบางคนก็ง่ายมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ผมไม่เคยเจอเด็กที่มีปัญหาเคลียร์หูไม่ออกเลย ส่วนผู้ใหญ่ บางคนก็ง่าย บางคนก็ยาก บางคนก็ยากมาก กรณีของผมนับได้ว่าเป็นกรณียากมาก ผมเคลียร์หูยากมาก กว่าจะเคลียร์ได้ท้อไปหลายครั้ง ตอนที่ลูกชายชวนลงคอร์ส Pool Freediver หลายปีก่อน ก่อนจะเรียนจริง ผมฝึกเองที่บ้านอยู่หลายวัน เคลียร์บนบก หัวตั้ง ซึ่งง่ายที่สุดแล้ว ยังเคลียร์ไม่ออกเลย พยายามหาข้อมูลในเนท ลองหลายๆวิธี ขยับกรามก็แล้ว เอียงคอก็แล้ว เคลียร์ไม่ออกอยู่หลายวัน น่าจะฝึกอยู่ 3-4 วันเลยกว่าจะเคลียร์ออก ครั้งแรก ที่ได้ยินเสียงป๊อปในหู ดีใจน้ำตาแทบไหล แต่ก็ออกแค่ข้างเดียว ต้องฝึกต่อน่าจะอีกวัน ถึงออกอีกข้าง ผมพยายามดันลมให้ยาวขึ้น ไม่ได้แรงขึ้น และทำการยืดเหยียดท่อ Eusthachain ก่อนจะทำการเคลียร์หู

สำหรับคนที่เคลียร์หูบนบกไม่ได้เลยแบบผม ปัญหาส่วนมากคือ เรื่องความยืดหยุ่นของท่อ Eusthachian ให้ลองยืดเหยียดท่อดู วิธีการที่ได้ผลดีที่สุดจากประสบการณ์ คือ ให้ดันกรามด้านล่างออกไปด้านหน้า และขยับไปทางซ้าย ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้น ขยับไปทางขวา ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ จะทำให้ท่อยืดหยุ่นขึ้น เคลียร์หูได้ง่ายขึ้น

พอเคลียร์หูบนบกได้ มาลองลอยตัวหน้าคว่ำในสระว่ายน้ำ คราวนี้เคลียร์ไม่ออกอีก หัวจะปวด ฝึกอีกหลายวัน ถึงจะทำได้ สำหรับคนที่ลอยผิวน้ำแล้วเคลียร์ไม่ได้ส่วนมากเป็นเรื่องจิตใจ หรือบีบจมูกไม่สนิท เพราะพอคว่ำหน้าในน้ำใส่ mask ต้องบีบจมูกผ่าน mask อาจบีบไม่สนิท ไม่เหมือนตอนทำบนบกที่ไม่ต้องสวม Mask บีบจมูกได้ง่ายกว่า ให้ลอง เปลี่ยนวิธีบีบหลายๆแบบดูและเมื่อบีบแล้ว กดมือเข้าใบหน้าอีกที เพื่อให้สนิท

หลังจากเคลียร์หูบนผิวน้ำ (Pre-Equalize) ได้แล้ว พอดำลง หัวลงก่อน เคลียร์ไม่ออกอีก ครั้งนี้ยากกว่าครั้งก่อนๆมาก มาหาข้อมูลทีหลังน่าจะเป็นเพราะ พอหัวลง เพดานอ่อน (Soft Palate) ปิด ทำให้เราดันลมไปที่โพรงจมูกไม่ได้ วิธีแก้ไข้เบื้องต้น ต้องดำลงเฉียงๆ หรือเงยหน้า มองไปก้นสระ แต่กว่า จะหาทางแก้ได้จริงๆ ฝึกอยู่อีกเป็นเดือนๆ ผมล่ะอิจฉาคนที่เคลียร์หูง่ายๆ อย่างลูกชายผม 2 คน วันแรกก็เคลียร์ได้เลยทั้ง เท้าลงก่อน หรือหัวลงก่อน ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย

สำหรับคนที่มีปัญหาการเคลียร์หู ขอเพียงอย่าท้อ หมดกำลังใจไปเสียก่อน คอยสังเกตตัวเอง ว่า วิธีเคลียร์หูแบบไหน ได้ผลดีกับเรา ปัญหาเป็นแบบไหน ควรแก้ยังไง เคลียร์หูออกข้างเดียว? เคลียร์ไม่ออกเลย? เคลียร์ออกบนบก พอลงน้ำเคลียร์ไม่ออก? เคลียร์ออกเฉพาะขาลงก่อน พอหัวลงก่อนเคลียร์ไม่ออก? ศึกษาหาข้อมูล เรียนรู้เพิ่มเติม ฝึกซ้อม อย่าท้อ อย่ายอมแพ้ เหมือนกับการใช้ชีวิต เรามีอะไรให้เรียนรู้เพิ่มเติม แก้ไข ปรับปรุงได้ตลอด ถ้าทำตามนี้ มั่นใจได้เลยว่า วันนึงเราต้องเคลียร์หูออกแน่ๆ แล้วจะรู้สึกว่าเสียงป๊อปในหูนั้นช่างไพเราะจริงๆ…..