เรียน Freedive 1 วัน เรียนอะไรบ้าง?

 

 

หลายๆคนอาจสงสัยว่า เวลาลงคอร์สเรียนฟรีไดฟ์ เวลาแค่ 1 วัน จะได้เรียนอะไรบ้าง เวลาจะพอเหรอ? บทความนี้จะเล่าถึงรายละเอียด การเรียน Freedive หลักสูตร Basic Freediver ของ SSI ว่า ต้องเรียน และฝึกทักษะอะไรบ้าง โดยยกตัวอย่างจากการเรียนการสอนฟรีไดฟ์ คอร์ส Basic Freediver จริงๆ

คุณเนย Tiktoker คนดัง ติดต่อมาทาง Line สนใจจะลงเรียน freedive คอร์ส 1 วัน โดยคุณเนยจับคู่มากับแฟน คุณเอ มาเรียนด้วยกัน ซึ่งดีมากๆเลยนะครับ เพราะถ้าเป็นไปได้เราควรมีบัดดี้ จะได้ฝึกและไปดำน้ำด้วยกันได้ กฎข้อแรกของ Freedive คือ “Never dive alone” คุณเนยเลือกสถานที่เรียน เป็นที่สระของมหิดล ศาลายา Salaya Intro dive สระลึกสูงสุด 5 เมตร ที่นี่ ครูเขาและครูกบ เป็นผู้ดูแล ครูทั้งสอง เป็นครู Skin diving สุภาพ และอัธยาศัยดี น่ารักมากครับ ใครสนใจเรียน Skin Diving ติดต่อ ครูเขา ครูกบได้นะครับ

เรานัดเจอกันที่ร้าน Amazon โดยเริ่มเรียนภาคทฤษฏีกันก่อน เราเริ่มเรียนกันที่เรื่อง สรีรวิทยาของฟรีไดฟ์ (Phisiology of Freediving) ครูสอนโดยเปิด Powerpoint Presentation ประกอบ สไลด์เหล่านี้จัดทำโดยสถาบัน  SSI โดยครูได้เพิ่มเติมเนื้อหา ในส่วนที่สำคัญ เช่น ทักษะต่างๆที่ต้องทำในในคอร์สนี้

Phisiology of Freediving

ในส่วนนี้ จะเป็นการเรียนการสอนเรื่อง MDR (Mammalian Dive Reflex) การตอบสนองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่ออยู่ใต้น้ำ โดยหลักๆ แล้ว จะมี 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. Bradycardia หัวใจเต้นช้าลง เป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดออกซิเจน และสร้าง CO2 ช้าลง ทำให้อยู่ในน้ำได้นานขึ้น
  2. Blood Vessel Constriction เส้นเลือกที่ไปเลี้ยงระยางค์ (แขน ขา) จะหดตัว เพื่อรักษาเลือดจำนวนมากในระบบสำคัญของร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ ปอด
  3. Blood Shift ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นในส่วนเส้นเลือดที่ไปยังปอด เพื่อป้องกันแรงดันน้ำ ทำให้ปอดยุบ
  4. Spleen Contraction ม้ามบีบตัว บีบเลือดออกมามากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณ O2 ในระบบ

จากนั้น เราก็เรียนเรื่อง Boyle’s law ผลของแรงดัน (แรงดันบรรยากาศ และแรงดันน้ำ) ต่อร่างกาย และเรื่อง วิธีเคลียร์หู โดยเราเริ่มต้นด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดก่อน คือ VALSAVA วิธีการนี้เรียบง่ายมาก เพียงแค่บีบจมูก และเป่าลมออกทางจมูก เมื่อลมออกไม่ได้ ก็จะไปดันท่อ Eusthachian ให้เปิดออก คุณเอเคลียร์หูได้ แต่ คุณเนย ยังมีปัญหาเคลียร์ไม่ออก เราก็ต้องมาเรียน ฝึกเพิ่มเรื่องการยืดเหยียดเพื่อให้เคลียร์หูได้ง่ายขึ้น สุดท้าย คุณเนย ก็ยังมีปัญหา เคลียร์หูได้แค่ข้างเดียว ครูก็ต้องหาทางให้เคลียร์ออกทั้งสองข้าง เพราะถ้าทำไม่ได้ เราจะดำลงลึกเกิน 2-3 เมตรไม่ได้ สุดท้าย คุณเนยก็ทำได้ เราถึงเรียนหัวข้อถัดไป คือเรื่องการหายใจแบบ Freediver

Breathing for Freediving

เราเริ่มเรียนการหายใจแบบ Freediver โดยครูอธิบายก่อนว่า การหายใจแบบฟรีไดฟ์ จะมีสองส่วน หลักๆได้แก่ Breathe up (การหายใจเพื่อเตรียมพร้อม ก่อนกลั้นหายใจ) และ Recovery Breathing (การหายใจเพื่อการฟื้นฟู)

Breathe up แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ Relaxation Breathing ประมาณ 1.45-2.00 นาที โดยเราจะหายใจให้ผ่อนคลายที่สุด หายใจเข้าใช้เวลาแค่ไหน หายใจออกเป็นเวลาประมาณ 2 เท่า จากนั้น ทำ Final Breath โดยหายใจเข้าให้เต็มท้องและเต็มอก จากนั้นเริ่มกลั้นหายใจ พอกลั้นหายใจเสร็จแล้ว ให้ทำ Recovery Breath ครูให้คุณเนย และคุณเอ ทดลองหายใจและกลั้นหายใจดู โดยรอบแรกให้กลั้นหายใจแค่ถึง Urge to Breathe (อยากหายใจ) ก็พอ รอบแรกทั้งสองคนกลั้นได้ 43 วินาที พอรอบสอง คุณเนยทำได้ 1.05 นาที คุณเอ ทำได้ 1.25 นาที ครูอธิบายว่า เวลากลั้นหายใจรอบหลังๆ จะดีกว่า รอบแรกๆ เป็นเรื่องปกติ ส่วนมากจะดีสุด รอบที่ 4 หรือ 5

หลังจากได้ทดลองเรื่องการกลั้นหายใจ (Dry Apnea) แล้ว เราก็มาเรียนกันต่อเรื่อง Hyperventilation หรือ Over Breathing และอันตรายของมัน Freediver จะไม่ทำ Hyperventilate เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงการหมดสติ (Black out) และ LMC (Lost of Motor Control)

Freediving Skills

หัวข้อต่อมา เราจะเรียนเรื่อง ทักษะต่างๆ ของ Freedive เรื่องการมุดน้ำ (Duckdive) การตีฟิน (Bi-fin) การทำตัวลู่น้ำ Streamlining การดำน้ำกับ buddy และความสำคัญของบัดดี้ เรียนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Black out และ LMC และการช่วยเหลือบัดดี้ที่ BO หรือ LMC สำหรับ Basic Freediver จะเรียนแค่การช่วยเหลือที่ผิวน้ำ (Surface Rescue)

ภาคทฤษฎีที่เหลือก็เป็นเรื่อง สภาพแวดล้อม อันตรายของสัตว์ทะเลบางชนิดและ การเลือกอุปกรณ์ ซึ่งผมคงไม่เล่าทั้งหมดในบทความนี้ เพราะน่าจะทำให้บทความยาวเกินไป 

หลังจากจบภาคเนื้อหา ทฤษฎีแล้ว เกือบเที่ยงพอดี เราพักทานข้าวกลางวันกัน โดยสั่งอาหารตามสั่งง่ายๆมาทานกัน นักเรียนทั้งสองทาน ข้าวไข่เจียวกุ้งสับ ส่วนผมทาน ข้าวหมูกระเทียม จากนั้น เราก็เปลี่ยนชุด ทากันแดด เตรียมตัวลงน้ำ เรียนภาคปฏิบัติกัน

ตอนบ่ายเราเริ่มการเรียน การสอน freedive กันในสระตื้นก่อน สระที่มหิดล จะมีหลายสระ ที่เราใช้ฝึกกันมี 3 สระ คือ สระลึก 1.4 เมตร ยาว 25 เมตร สระลึก 1.8 เมตร ยาว 50 เมตร และสระกระโดดน้ำ ลึก 5 เมตร โดยปกติการฝึก เราจะฝึกบนบกก่อน (Dry) และค่อยฝึกในสระตื้น และสุดท้าย ฝึกในสระลึก เราเริ่มกันด้วยการฝึก Static Apnea คือการกลั้นหายใจโดยลอยในน้ำนิ่งๆ (การฝึกในน้ำทุกครั้งต้องมีบัดดี้ด้วยเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น) โดยให้คุณเนย และคุณเอ สลับกัน คนนึงกลั้นหายใจ อีกคนเป็นบัดดี้ บัดดี้มีหน้าที่อยู่ใกล้ๆ คอยสัมผัสตัวคนที่ทำการกลั้นหายใจ โดยอาจแตะไปที่หลัง หรือจับต้นแขน เป็นการทำให้คนที่กลั้นหายใจอยู่สบายใจ อุ่นใจขึ้น รู้สึกปลอดภัย ว่ามีคนคอยดูอยู่ใกล้ๆ และต้องคอยเตือนให้ ขึ้นสู่ผิวน้ำ (Surfacing) อย่างถูกต้อง และ เตือนให้ทำ Recovery breathing ด้วย หลังจากฝึกซ้อม 2 รอบ น้องเนยคราวนี้กลั้นได้ 1.31 นาที ซึ่งถือว่าผ่านสำหรับ เกณฑ์ระดับ Level 1 ส่วนน้องเอ ทำได้ 1.27 ขาดไปนิดเดียว ต่อด้วยการฝึกแก้ตะคริว (Cramp removal) 

จากนั้น เราก็ฝึกการตีฟิน การฝึกทักษะต่างๆ ครูจะสาธิตให้ดูก่อน 1 ครั้ง และให้นักเรียนลองทำดู สำหรับการตีฟิน ครูย้ำให้นักเรียนทั้งสองตีฟิน โดยออกแรงจากสะโพก หรือต้นขา ถ้าออกแรงจากเท้า หรือน่อง จะไม่มีแรง เมื่อยล้าและเป็นตะคริวได้ง่าย  หลังจากให้น้องเนยและน้องเอ ลองตีฟิน ไปมาในสระ 2-3 รอบ เราก็มาฝึกทักษะ Dynamic Start and Setting neutral buoyancy กันต่อ ทักษะนี้จำเป็นสำหรับการฝึกในสระ และการทำ Dynamic Apnea

ส่วนสุดท้ายของการฝึกในสระตื้น คือการฝึก Surface Rescue คือการช่วยคนที่ black out ที่ผิวน้ำ โดยการจับไหล่ทั้งสองข้างของผู้ประสบภัย หมุนตัวขึ้นมา ใช้มือประคองคอ ศีรษะ ให้พ้นน้ำ Airway (จมูกและปาก) พ้นน้ำ สะบัดมือ 1 ครั้ง เพื่อสะบัดน้ำที่มือออก จากนั้นทำ Blow Tap Talk คือการเป่าไปทั่วหน้า ตบหน้าเบาๆ และ เรียกชื่อ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้สติ ถ้าทำ Blow Tap Talk แล้วยังไม่ได้สติ ให้ทำการเป่าปาก โดยสมมติเป่าไปที่มือแทน

สอน freedive มหิดล
เรียน freedive คู่รัก

เสร็จจากสระตื้น เราย้ายกันฝึก Duckdive ที่สระ 1.8 เมตร ก่อน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ครูพยายามปรับการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของนักเรียนด้วย อย่างน้องเนย น้องเอ เค้ามีแผนจะไปเที่ยว สิมิลัน เดือนกุมภาพันธ์ ครูเลยเน้นและให้เวลากับการ duckdive มากเป็นพิเศษ ช่วงแรก ทั้งคู่ยังทำได้ไม่ดีนัก โดยน้องเอ ไม่พับตัว แต่เหมือนพุ่งหลาวลงไปมากกว่า คือลงได้เหมือนกัน แต่จะลงเอียงๆ และลงได้ช้า ส่วนน้องเนยมีปัญหากับการเคลียร์หู

หลังจากฝึกกันสักพักเราก็ย้ายกันไปสระลึก 5 เมตร น้องเอยังมีปัญหาเรื่องการพับตัว แต่ก็ดำลงไปได้ถึง 3-4 เมตร ส่วนน้องเนยยังมีปัญหาเรื่องเคลียร์หูลงไปได้แค่ 2 เมตร พยายามรอบแล้วรอบเล่า น่าจะเป็นสิบๆรอบ เห็นแล้วเหนื่อยแทน แต่น้องเนย ก็ไม่ท้อ ไม่ยอมแพ้ ครูสาธิตการ Duckdive ให้ดูอีกหลายครั้ง และหาทางแก้เรื่องการเคลียร์หู โดยใช้วิธีเคลียร์หูหลายวิธี ทั้ง Valsava, Frenzel, Edmond สุดท้าย ต้องใช้ Toynbee คือการบีบจมูกและกลืนน้ำลาย จริงๆ ไม่อยากใช้วิธีนี้ เพราะจะกระตุ้น Urge to breathe ทำให้อยู่ในน้ำได้ไม่นาน แต่อยากให้นักเรียนรู้สึกว่าทำได้ ทำสำเร็จ พอเคลียร์หูได้ ทั้งคู่ก็ดำได้ถึงก้นสระ 5 เมตร วินาทีที่นักเรียนดำไปแตะก้นสระได้ น้องเนย น้องเอดีใจมาก หัวเราะร่า ครูก็ดีใจไม่แพ้กัน ทั้งสองมีความพยายามและตั้งใจมาก ครูก็ชื่นใจ และดีใจด้วย

ฝึกกันถึงเกือบ 5 โมง ครูก็สอนเรื่องการลง Logbook การ verify dive และทำเอกสาร Training Record สำหรับออกใบเซอร์ เป็นอันจบการเรียน freedive 1 วัน คอร์ส basic freediver