ประโยชน์ของ ฟรีไดฟ์ การดำน้ำตัวเปล่า

 

Freediving is not only sport, it’s a way to understand who we are”

— NATALIA MOLCHANOVA

 

หลายคนอาจคิดว่า ฟรีไดฟ์เป็นกีฬาสุดขั้ว (Extreme) บ้าง บางคนอาจคิดว่า เป็นกิจกรรมสันทนาการสนุกๆ จะได้ไปดำน้ำได้สนุกขึ้น ใกล้ชิดสัตว์น้ำ ปะการังมากขึ้น แต่อันที่จริงแล้ว ฟรีไดฟ์นั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดมาก ประโยชน์ของ ฟรีไดฟ์ ได้แก่

ช่วยให้เราผ่อนคลาย ลดความเครียด

บทเรียนแรกๆ และเป็นบทเรียนที่สำคัญ ถือได้ว่าเป็นแก่นของฟรีไดฟ์เลยก็ว่าได้ คือ เรื่องการหายใจ นักดำน้ำ เรียนรู้ที่จะ หายใจด้วยกระบังลม (Belly Breathing หรือ Diaphragm Breathing) การหายใจด้วยกระบังลม ใช้พลังงานน้อย ผ่อนคลาย ประหยัด ออกซิเจน ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ก่อนการดำน้ำ และระหว่างดำน้ำ นักดำน้ำ พยายามผ่อนคลาย ร่างกาย มากที่สุด โดยการลดสิ่งเร้า การทำสมาธิ การจินตนการถึงสถานที่ๆสงบผ่อนคลาย

การผ่อนคลายทั้งร่างกาย จิตใจ และลมหายใจ ช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย

นักดำน้ำฟรีไดฟ์ ต้องยืดเหยียดร่างกายก่อนการดำน้ำ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย รวมถึงการบริหารร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการระบบทางเดินหายใจ การบริหารยืดเหยียด แบบโยคะ เพื่อให้ร่างกายช่วงหน้าอก และกระบังลมยืดหยุ่นมากขึ้น และ เพิ่มความจุของปอด ทำให้หายใจเข้าเก็บอากาศได้มากขึ้น

เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และกล้ามเนื้อ

ฟรีไดฟ์ นับได้ว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำ Dynamic Apnea การกลั้นหายใจและดำน้ำในแนวนอน หรือ การดำดิ่งลงในแนวดิ่ง Constant Weight ต้องใช้กำลังกายค่อนข้างมาก การตีฟิน ใช้กำลังจากสะโพก ต้นขา และแกนกลางร่างกาย การตีฟิน และ/หรือ การใช้ arm stroke เพื่อดำดิ่งลง หรือเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ เป็นการออกกำลังกาย แบบมีแรงต้าน (resistance) อย่างดี เพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและกล้ามเนื้อ

เรียนรู้ที่จะฟัง สังเกตร่างกายตัวเอง และสงบจิตใจ

นักดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ เรียนรู้ที่ฟัง สังเกต และมองเข้าไปในร่างกาย และจิตใจของตนเอง เรารู้สึกเครียดอยู่มั้ย หัวใจเราเต้นเร็วไปหรือเปล่า การหายใจเข้าออกของเราเป็นอย่างไร เร็วไป ช้าไป ตื้นไป ลึกไป การหายใจออกให้ ยาวกว่าหายใจเข้า และหายใจออกอย่างผ่อนคลาย จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ และสงบจิตใจได้

ที่สำคัญ เราเรียนรู้ที่จะสังเกต อาการอยากหายใจ (Urge to breathe) เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณที่ร่างกายต้องการจะบอก โดยปกติแล้ว อาการอยากหายใจจะมี 3 แบบ คือ กลืนน้ำลาย, รู้สึกร้อนที่หน้าอก, และกระบังลมกระตุก นักดำน้ำ เรียนรู้ที่สงบจิตใจ และผ่อนคลาย แม้เกิดภาวะอาการอยากหายใจ และเรียนรู้ที่จะฟัง และสังเกตร่างกายตนเองว่าได้เวลาขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว

เพิ่มความมั่นใจ และ เพิ่มความปลอดภัยทางน้ำ

นักดำน้ำฟรีไดฟ์ ต้องสามารถผ่อนคลายร่างกาย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำน้ำ การผ่อนคลายร่างกายได้ เราต้องมีความมั่นใจในตนเอง ว่าสามารถทำได้ (Can-do attitude) นอกจากมีความมั่นใจในตนเองแล้ว จากการศึกษา วิจัย นักดำน้ำส่วนมากมีความเชื่อ เรื่อง Internal Locus of Control ปัจจัยที่มีผลต่อสิ่งต่างๆ มาจากภายใน หรือขึ้นกับตัวเราเอง มากกว่า ปัจจัยภายนอก

การเรียนฟรีไดฟ์ ยังเรียนรู้เรื่อง ความปลอดภัยต่างๆทางน้ำ การกู้ภัย และช่วยผู้ประสบภัยในน้ำ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยทางน้ำ ไม่ว่าเราจะเล่นกีฬาในน้ำ หรือเดินทางท่องเที่ยวก็ตาม